ขั้นตอนการพัฒนาระบบ
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดปัญหา
โดยปกติองค์กรใดๆ
ที่ต้องการพัฒนาระบบหรือสร้างระบบใหม่ขึ้นมาใช้งานนั้น องค์กรนั้นอาจกำลังประสบกับปัญหาบางประการในการทำงาน
เช่น การจัดการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ไม่เป็นระบบระเบียบ ทำให้ยากต่อการนำมาใช้งาน
การตรวจสอบสินค้าคงเหลือยุ่งยาก การจัดทำรายงานต่าง ๆ ทำได้ยากและล่าช้า
ซึ่งบางครั้งเกิดความผิดพลาดในการจัดทำรายงาน เป็นต้น หรือบางองค์กรอาจต้องปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นสิ่งแรกที่นักวิเคราะห์ระบบควรทำ คือ
1. การศีกษาถึงปัญหาขององค์กร
2. การศึกษาถึงความต้องการขององค์กร
การกำหนดปัญหาและความต้องการของระบบ
จะเป็นข้อมูลให้นักวิเคราะห์ระบบสามารถกำหนดทิศทางหรือแนวทางในการพัฒนาระบบใหม่
รวมถึง การกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาระบบ
จากนั้นนักวิเคราะห์ระบบจะต้องศึกษากิจกรรมการทำงานต่าง
ๆ ของระบบว่ากิจกรรมใดเปลี่ยนแปลงได้ กิจกรรมใดเปลี่ยนแปลงไม่ได้
รวมถึงกฎระเบียบและเงื่อนไขการทำงานต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อกำหนดขอบเขตการทำงาน
ตัวอย่างการกำหนดปัญหา
1. ลูกค้ามีจำนวนมาก
ทำให้การบริการลูกค้าล่าช้า
2. เกิดข้อผิดพลาดในการขายสินค้า
3. สินค้ามีจำนวนมาก
ทำให้การตรวจสอบสินค้าคงเหลือลำบากและยุ่งยาก
4. การสั่งซื้อสินค้ายุ่งยากและซับซ้อน
เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารจำนวนมาก
5. การทำรายงานสรุปกำไร/ขาดทุน
ทำได้ยาก เนื่องจากต้องตรวจสอบเอกสารจำนวนมาก
ตัวอย่างการกำหนดวัตถุประสงค์
หลังจากศึกษาถึงปัญหาและกำหนดปัญหาเรียบร้อยแล้ว
นักวิเคราะห์ระบบจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนาระบบใหม่
ทั้งนี้การกำหนดวัตถุประสงค์จะได้จากการกำหนดปัยหาและการศึกษาความต้องการของระบบ
ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างการกำหนดขอบเขต
การพัฒนาระบบฐานข้อมูลร้าน........................(ชื่อร้าน)....................พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งาน
ในร้าน..............................(ชื่อร้าน)...................................ซึ่งใช้จัดการงานด้านต่าง
ๆ ดังนี้
1. การขายสินค้า
2. การสั่งซื้อสินค้า
3. การตรวจสอบสินค้า
4. การสรุปรายงานกำไร / ขาดทุน
5. สรุปรายงานสินค้าขายดี
6. สรุปรายงานสินค้าคงเหลือ
ขั้นตอนที่ 2 การศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility
Study)
การศึกษาความเป็นไปได้
เป็นการศึกษาถึงแนวทางความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาระบบใหม่ขึ้นมาใช้งาน
โดยการศึกษาความเป็นไปได้นั้นจะทำให้สามารถได้บทสรุปของการพัฒนาระบบ
ซึ่งนักวิเคราะห์จะต้องศึกษาความเป็นไปได้จาก 3 ข้อดังนี้
1. ความเป็นไปได้ด้านเทคนิค (Technically Feasibility)
2. ความเป็นไปได้ด้านการปฏิบัติ (Operational Feasibility)
3. ความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ (Economic Feasibility)
1. ความเป็นไปได้ด้านเทคนิค (Technically
Feasibility)
การศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเทคนิคเพื่อให้ทราบว่าสามารถพัฒนาระบบใหม่ได้หรือไม่
โดยจะต้องวิเคราะห์ความรู้ความสามารถของทีมงานด้วยว่ามีความรู้ความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญพอที่จะแนะนำเทคนิคและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบใหม่หรือไม่
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ระบบจะต้องสำรวจอุปกรณ์ภายในองค์กรว่ามีอะไรบ้าง เช่น
คอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย เครื่องพิมพ์ อุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ
รวมไปถึงซอฟต์แวร์ที่ใช้ ถ้าเทคโนโลยีที่มีไม่สามารถรองรับการทำงานของระบบใหม่ได้
จะต้องจัดหาอุปกรณ์ใหม่ โดยนักวิเคราะห์จะต้องจัดหาอุปกรณ์ที่สามารถรองรับเทคโนโลยีและการขยายตัวขององค์กรในอนาคตได้
รวมถึงต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ทางด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้วยว่าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
2. ความเป็นไปได้ด้านการปฏิบัติ (Operational
Feasibility)
ความเป็นไปไ้ด้านการปฏิบัติ ควรคำนึงถึงผู้ใช้ระบบ
ว่ามีความสามารถใช้งานระบบใหม่ได้หรือไม่และมีความพึงพอใจแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้ใช้ทราบถึงจุดประสงค์ในการพัฒนาระบบใหม่หรือไม่
และผู้ใช้สนับสนุนการสร้างระบบใหม่หรือไม่ อย่างไร
- ผู้ใช้สามารถใช้งานระบบใหม่ได้หรือไม่
อย่างไร
- จะต้องเตรียมอะไรบ้างในการฝึกอบรมการใช้งานให้กับผู้ใช้ระบบ
เป็นต้น
3. ความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ (Economic Feasibility)
ความเป็นไปได้ด้านเศรษฐกิจ
เป็นการคิดคำนวณเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการพัฒนาระบบใหม่ขึ้นมาใช้งาน
ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ และจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งคิดจากผลประโยชน์ที่จะได้รับที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินหลังจากที่นำระบบใหม่เข้ามาใช้งาน หลังจากที่ทราบถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบใหม่ขึ้นมาใช้งานแล้ว
นักวิเคราะห์ระบบจะต้องจัดทำรายงานเสนอต่อผู้บริหาร
เพื่อให้ผู้บริหารพิจารณาตัดสินใจว่าจะหยุดหรือจะดำเนินการพัฒนาระบบใหม่ต่อไป
รูปแบบการจัดทำรายงานเสนอผู้บริหาร
หลังจากที่นักวิเคราะห์ระบบกำหนดปัญหาและศึกษาความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว
จะต้องจัดทำรายงานเสนอต่อผู้บริหาร
เพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจว่าจะพัฒนาระบบต่อไปหรือไม่
ซึ่งรูปแบบรายงานจะขึ้นอยู่กับหน่วยงานว่าจะใช้รูปแบบใด ยกตัวอย่างเช่น
1. ปก
2. สารบัญ
3.สาระสำคัญ (สรุปเกี่ยวกับโครงการว่ามีแนวทางการทำงานอย่างไร)
4. หลักการและเหตุผล
5. วัตถุประสงค์
6. ปัยหาหรือประโยชน์ที่เป็นเหตุผลให้ควรพัฒนาระบบ
7. รายละเอียดของการพัฒนาระบบ
7.1 เทคนิคหรือเทคโนโลยีที่ใช้ (โปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ)
7.2 เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาระบบ (อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการพัฒนาระบบ)
7.3 ขอบเขตและข้อจำกัดของการพัฒนาโปรแกรม
8. ภาคผนวก
ขั้นตอนที่ 3 การวิเคราะห์ระบบ
การวิเคราะห์ระบบ (System analysis) เป็นการศึกษาระบบการทำงานขององค์กร
ว่าระบบทำงานอะไร ทำเมื่อไหร่ ทำอย่างไร และได้ผลลัพธ์อะไรจากการทำงานแต่ละขั้นตอน
รวมถึงศึกษาปัญหาที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ของระบบอย่างละเอียด
ซึ่งการศึกษาระบบอาจใช้วิธีที่หลากหลาย เช่น
การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์การทำงาน การใช้แบบสอบถาม
รวมถึงการศึกษาจากเอกสารการทำงานต่าง ๆ
ทั้งนี้เพื่อให้ทราบรายละเอียดการทำงานของระบบทั้งหมด
จากการศึกษาข้างต้นทำให้นักวิเคราะห์ระบบทราบเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของการสร้างระบบใหม่
ซึ่งเป้าหมายหรือจุดประสงค์ดังกล่าวจะได้จากปัญหาที่ศึกษาข้างต้นรวมถึงความต้องการของผู้ใช้ระบบ
กล่าวคือสาเหตุที่สร้างระบบใหม่นั้น
เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานของระบบเดิมและเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้นั่นเอง
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ระบบจะต้องกำหนดขอบเขตของระบบใหม่ที่สร้างว่าจะสร้างระบบควบคุมการทำงานส่วนไนบ้าง
ส่วนไหนต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนไหนต้องใช้คน
ซึ่งในขั้นตอนการวิเคราะห์ระบบนี้นักวิเคราะห์ระบบจะจำลองกระบวนการทำงานของระบบใหม่ด้วยเครื่องมือ
Data
Flow Diagram : DFD ในการจำลองกระบวนการทำงานและใช้เครื่องมือ Entity Relationship
Diagram : ERD ในการสร้างแบบจำลองข้อมูล เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 การออกแบบระบบ
การออกแบบระบบ
หมายถึง การนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ตามขั้นตอนที่ 3 มาคิดแนวทางการสร้างระบบใหม่
ว่าจะสร้างอย่างไร คือ การออกแบบจอภาพเพื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ (User
Interface) การออกแบบรายงาน (Output Design) และการออกแบบฐานข้อมูล
เป็นต้น นอกจากนี้การออกแบบยังรวมไปถึง การกำหนด อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์
และเครือข่าย ที่จะใช้ในระบบใหม่ ซึ่งสามารถสรุปการออกแบบได้ดังนี้
1. การใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์
ซอฟต์แวร์ เครือข่าย และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ต้องใช้ในระบบใหม่
2. การออกแบบข้อมูลนำเข้า
(Input Design)
3. การออกแบบรายงานหรือผลลัพธ์
(Output Design)
4. การออกแบบหน้าต่างการโต้ตอบกับผู้ใช้ (User
Interface Design)
5. การออกแบบฐานข้อมูล (Database Design)
ขั้นตอนที่ 5
การพัฒนาระบบ
การสร้างระบบหรือการพัฒนาระบบ คือ
การเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ใด ๆ
เพื่อสั่งงานให้อุปกรณ์นั้น ๆ ทำงานตามที่ต้องการ
ซึ่งดปรแกรมเมอร์จะเขียนโปรแกรมตามที่นักวิเคราะห์ระบบออกแบบไว้
หลังจากที่เขียนโปรแกรมเรียบร้อยแล้วจะต้องทดสอบโปรแกรมตามกระบวนการทำงานของระบบทั้งหมด
ได้แก่ การใช้งานระบบการนำเข้าข้อมูล การแสดงผล
ในการทดสอบนั้นต้องทำการทดสอบโดยการใช้ข้อมูลจริงที่ได้เตรียมไว้
ซึงจะทำให้ทราบว่าระบบสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือไม่
หากระบบทำงานได้ดีแล้วผู้พัฒนาระบบจะต้องจัดทำคู่มือการใช้งานระบบและทำการติดตั้งระบบให้ผู้ใช้ได้ใช้งานจริงหลังจากนั้นจะเป็นการประเมินระบบจากผู้ใช้ว่าะบบสามารถทำงานได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือไม่
หากยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้
ผู้พัฒนาระบบจะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขจนสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
ขั้นตอนที่ 6 การติดตั้งระบบ
การติดตั้งระบบ
เป็นการนำโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นจากขั้นตอนที่ 5 มาติดตั้งในองค์กร
เพื่อใช้งานจริง ทั้งนี้ในการใช้งานระบบใหม่ควรใช้ควบคู่ไปกับระบบการทำงานเดิมก่อน
เพื่อป้องกันการผิดพลาดจากการทำงาน เพราะถึงแม้ว่าระบบหรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นได้ผ่านการทดสอบแล้ว
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีข้อผิดพลาด
ทั้งนี้ควรทดลองใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นควบคู่กับระบบการทำงานเดิมจนกว่าจะมั่นใจว่าระบบที่พัฒนาขึ้นไม่มีข้อผิดพลาดใด
ๆ แล้ว
ขั้นตอนที่ 7 การบำรุงรักษาระบบ
การบำรุงรักษาระบบ คือ
การดูแลบำรุงรักษาให้ระบบสามารถใช้งานได้นานที่สุด
โดยจะต้องดูแลรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมและอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ
ที่ใช้ในระบบ ให้สามารถใช้งานได้ปกติ และถ้าในอนาคตเทคโนโลยีต่าง ๆ
ได้เปลี่ยนแปลงไป ก็จะต้องสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขโปรแกรมหรือส่วนบกพร่องต่าง ๆ
ให้สามารถรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตได้
ขั้นตอนนี้จึงถือเป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลายาวนานที่สุด